กวาวเครือขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pueraria candollei Grah.
ex Benth var mirifica
(Shaw & Suvat.) Niyomdham
ชื่อพ้อง Pueraria mirifica
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
ชื่ออื่น ๆ กวาวเครือ, กวาว, ทองเครือ, ทองกวาว, กวาวหัว
ตามจอมทอง, จานเครือ, โพะตะกู, ตานเคือ,
ตานเครือ
ส่วนที่ใช้ หัวใต้ดิน
การปลูก ทำได้ 3 วิธีดังนี้
1. การเพาะเมล็ด โดยการเพาะเมล็ดในกระบะขี้เถ้าแกลบประมาณ 45 วัน นำต้นกล้าที่ได้ปลูกลงถุงเพาะชำโดยใช้ดิน 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน เปลือกมะพร้าวสับ 1 ส่วน ค่า pH ประมาณ 5.5 เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตได้ 60 วัน จึงนำลงแปลงปลูกกลางแจ้ง โดยทำด้วยไม้ไผ่ หรือปลูกร่วมกับไม้ยืนต้นในกระบวนการเกษตร เช่น ไผ่ สัก ปอสา หรือไม้ผลอื่น ๆ พื้นที่ปลูกควรอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 300-900 เมตร
2. การปักชำ นำเถาที่มีข้อมาปักชำในกระบะ หรือถุงที่บรรจุขี้เถ้าแกลบ เมื่อเถาแตกรากและยอกแข็งแรงดีแล้ว จึงนำลงแปลงปลูกต่อไป โดยการเพาะเมล็ดและการแยกหัว ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
3. การแบ่งหัวต่อต้น หัวของกวาวเครือไม่มีตาที่จะแตกเป็นต้นใหม่ จำเป็นต้องใช้ส่วนของลำต้นมาต่อเชื่อตามวิธีการขยายพันธุ์แบบต่อราก เลี้ยงกิ่ง (nursed root grafting) สามารถนำหัวกวาวเครือขนาดเล็ก อายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป และต้นหรือเถาที่เคยทิ้งไปหลังการเก็บเกี่ยวมาขยายพันธุ์ได้ หลังการต่อต้นประมาณ 45-60 วัน ก็สามารถนำลงปลูกได้ และมีข้อดีคือสามารถต่อต้นกับหัวข้ามสายพันธุ์ได้
การเก็บเกี่ยวและวิธีปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
หัวใต้ดินจะขุดไปใช้ทางยาได้ก็ต่อเมื่อไม่มีใบ หัวแข็งใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-25 ซม. และมีวิธีการเก็บเกี่ยว ดังนี้
1. ขุดหัวและทำความสะอาดผึ่งให้แห้ง ผ่าหัวภายใน 3-4 วัน ถ้าทิ้งไว้นานหัวจะแห้งและเน่า
2. ปอกเปลือกออกและใช้มีดฝานเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแดด 3 วัน เมื่อแห้งสนิทใส่ภาชนะหรือถุงที่แห้ง ปิดปากถุงให้แน่น
กวาวเครือที่เก็บเกี่ยวจะมีขนาดหัวใหญ่กว่า 2 กิโลกรัม และยังไม่มีรายงานว่าหัวกวาวเครืออายุเท่าไร ขนาดใดและขุดฤดูกาลไหนที่หัวให้สารสำคัญมากที่สุด
สารสำคัญ
สารที่ออกฤทธิ์สำคัญที่พบในหัวกวาวเครือเป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง (phytoestrogens) ได้แก่ miroestrol และ deoxymiroestrol ซึ่งมีฤทธิ์แรงแต่มีปริมาณน้อยและมี phytoestrogens ที่มีฤทธิ์อ่อนแต่มีปริมาณมากกว่า จำพวก isoflavones อีกหลายชนิด เช่น daidzein, genistein, daidzin, genistin, puerarin, mirificin, และ kwakhurin
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า เมื่อนำกวาวเครือขาวมาใช้ในการคุมกำเนิดสัตว์ทดลอง เช่น นกกระทา หนูทดลอง สุนัข และแมว พบว่า สามารถคุมกำเนิดได้ทั้ง 2 เพศ โดยในสัตว์ทดลองเพศผู้พบว่า กวาวเครือขาวปริมาณสูงทำให้หนูขาวเพศผู้ไม่ผสมพันธุ์สำหรับสัตว์เพศเมียทำให้ปากช่องคลอดขยายใหญ่ มดลูกใหญ่ การตกไข่ถูกยับยั้ง
รายงานการวิจัยทางคลินิก
ในปี 2503 มีรายงานการศึกษาประสิทธิผลของ miroestrol ในการชักนำให้เกิด withdrawal bleeding ในหญิงที่มีสภาวะประจำเดือนไม่มาตามปกติ พบว่า ในผู้ป่วยที่ได้รับ miroestrol นั้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งใช้ได้ผลคือเกิด withdrawal bleeding และใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลเมื่อเทียบกับเอสโตรเจน แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงพอ ๆ กัน
นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและผลข้างเคียงของการใช้กวาวเครือขาวในสตรีวัยใกล้หมดและหมดระดู เพื่อรักษาอาการ vasomotor (อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน) และอาการร่วมอื่น ๆ พบว่า กวาวเครือขาวลดอาการ vasomotor ได้ค่อนข้างดี แต่ทำให้เกิดข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น เต้านมตึงคัด เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด อย่างไรก็ตาม ขนาดของกวาวเครือขาวที่เหมาะสมยังต้องการประเมินผลทางคลินิกเป็นสำคัญในผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นต่อไป
การศึกษาทางพิษวิทยาในสัตว์ทดลอง
ผลการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังของกวาวเครือ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยการกรอกผงกวาวในขนาดต่าง ๆ ติดต่อกันในหนูขาว พบว่า การให้ขนาดน้อย ๆ ไม่พบความผิดปกติในสัตว์ทดลอง แต่ถ้าให้ขนาดสูงจะพบความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ค่าชีวเคมีของเลือด และความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์
ข้อห้ามใช้
ตามตำรายาของหลวงอนุสารสุนทร จะห้ามไม่ให้คนหนุ่มสาวรับประทานกวาวเครือขาว ซึ่งจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบัน ข้อห้ามนี้ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดของคนโบราณเนื่องจากกวาวเครือขาว มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงที่ค่อนข้างแรง หากคนหนุ่มสาวรับประทานจะรบกวนระบบฮอร์โมนเพศได้
ข้อควรระวัง
ห้ามรับประทานเกินกว่าขนาดที่แนะนำให้ใช้
อาการข้างเคียง
อาจทำให้เกิดการเจ็บเต้านม มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดหรือเวียนศีรษะ คลื่นไส้
ข้อบ่งใช้
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2542 กวาวเครือขาวจัดเป็นตัวยาตัวหนึ่งในตำรับยาบำรุงร่างกาย สำหรับสรรพคุณในการบรรเทาอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือนนั้น ยังต้องทำการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิผลและความปลอดภัยก่อน
ขนาดที่ใช้
จากผลการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังของกวาวเครือขาว โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ขนาดใช้ของผงกวาวเครือขาวในคนไม่ควรเกิน 1-2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน หรือประมาณวันละ 50-100 มิลลิกรัม ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดขนาดรับประทานของกวาวเครือขาวไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
เอกสารอ้างอิง
1. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544 หน้า 441.
2. คู่มือสมุนไพรและเครื่องเทศ ชุดที่ 2 ยาจากพืชสมุนไพร, 2543.
3. สมโภชน์ ทับเจริญ. การขยายพันธุ์กวาวเครือโดยวิธีการแบ่งหัวต่อต้น. เอกสารประกอบการสัมมนางานประชุมวิชาการกวาวเครือขาว. วันที่ 13 กันยายน 2545 ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนนทบุรี. 11
4. Nature 1960; 774-777
5. J Nat Prod 2000; 63(2): 173-5
6. http://fda.moph.go.th/fda-net/html/product/apr/bulletin/vol122/title3.htm
7. ยุทธนา สมิตะสิริ. ภาพรามงานวิจัยและพัฒนากวาวเครือขาว ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2524 -2541). เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่องกวาวเครือขาว ; 1 ธันวาคม 2541. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข, 2541. 13-27
8. J Med Assoc Thai 2004; 87(1): 33-40.
9. ว. กรมวิทย พ. 2543 ; 42(3) :202-223.
10. หลวงอนุสารสุนทร. ตำรายาหัวกวาวเครือ.โรงพิมพ์อุปติพงศ์
11. คู่มือผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 2 โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, กรุงเทพฯ. 2544 หน้า 164
กวาวเครือ
เรียบเรียงโดย เภสัชกร รุจน์ สุทธิศรี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กวาวเครือขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pueraria mirifica Airy Shaw et Suvatab. เป็นพืชตระกูลถั่ว (วงศ์ Leguminosae) ขึ้นในป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 250-800 เมตรในป่าสูงทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
เป็นไม้เถาเลื้อย พาดพันต้นไม้ใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ ขนาดกลาง เถายาวประมาณ 5 เมตร ลำต้นเกลี้ยง เปลือกนอกของลำต้นมีสีน้ำตาลเข้มและค่อนข้างแข็ง มีหัวใต้ดินขนาดใหญ่ทำหน้าที่สะสมอาหาร ลักษณะ ค่อนข้างกลม และคอดยาวเป็นตอนๆต่อเนื่องกัน กิ่งอ่อน ยอดอ่อน ก้านช่อดอก และกลีบเลี้ยง มีขนสั้นๆ ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบประกอบยาว 10-38 ซม. ใบย่อยใบกลางรูปไข่ กว้าง 9-15 ซม. ยาว 15-30 ซม. ปลายมนถึงเรียวแหลม โคนสอบถึงมน ใบย่อยคู่ข้างขนาด ใกล้เคียงกับใบกลาง ปลายมนถึงเรียวแหลม โคนเบี้ยว ด้านบนใบเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นๆ ประปราย ก้านใบย่อยยาว 5-7 มม. ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ยาว 20-30 ซม. ดอกมีรูปร่าง คล้ายดอกแคขนาดเล็ก สีน้ำเงินอมม่วง ออกเป็นกระจุกในระยะผลัดใบ ดอกมีกลีบเลี้ยงยาว 6-7 มม. โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 4 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ สีม่วงอมน้ำเงินอ่อน กลีบนอกสุดมีขนาดใหญ่ กลีบคู่กลางค่อนข้างกลม งอโค้ง กลีบคู่ในสุดติดกันเป็นรูปท้องเรือห่อเกสรเอาไว้ เกสรตัวผู้มี 10 อันแต่ส่วนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน ฝักแบน รูปขอบขนาน ผิวเกลี้ยงหรือ มีขนสั้นประปราย กว้าง 7 มม. ยาว 3 ซม. กลายเป็นสีน้ำตาล เมื่อแก่ มีเมล็ด 3-5 เมล็ด
กวาวเครือแดง คาดว่าคือ Butea superba Roxb. ในวงศ์ Leguminosae เช่นเดียวกัน
สรรพคุณทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน
จากตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทรกล่าวว่า
กวาวเครือมี 4 ชนิด คือ
กวาวเครือขาว เป็นไม้เถา ขึ้นกับต้นไม้หรือเลื้อยไปบนดิน ก้านใบหนึ่งมี 3 ใบ
ใบเล็กกว่าชนิดแดง หัวคล้ายมันแกว ขนาดของหัวจะขึ้นอยู่กับลักษณะดิน
การใช้ทำยาให้เลือกหัวแก่ เอามีดปาดดูจะมียางสีขาวคล้ายน้ำนม เนื้อเปราะ
มีเส้นมาก
กวาวเครือแดง เมื่อถูกสะกิดที่เปลือกหัวจะมียางสีแดงคล้ายเลือดไหลออกมา
เมื่อใช้ทำเป็นยา ชนิดแดงแรงกว่าชนิดขาว
กวาวเครือดำ ลำต้นและเถาเหมือนกวาวเครือแดง แต่ใบและหัวมีขนาดเล็กกว่า
มียางสีดำ ใช้ทำเป็นยามีฤทธิ์แรงมาก ขนาดที่ใช้น้อยมาก
กวาวเครือมอ ทุกส่วน ต้น เถา ใบ หัว เหมือนกับชนิดดำ แต่เนื้อในหัวและยางสีมอๆ
ค่อนข้างจะหายาก เช่นเดียวกับชนิดดำ มีหัวเล็กขนาดมันเทศ
พืชที่เหมือนกวาว จะมีต้นเหมือนกวาวเครือ ใบเล็ก หัวเล็ก ก้านใบหนึ่งมี 7 ใบ ปลายใบไม่แหลม เหมือนกวาวเครือ พม่าเรียกว่า “วินอู่” ไทยเรียกต่างๆกันไป ชนิดนี้รับประทานแล้วทำให้ลำไส้บวมถึงตายได้ อีกชนิดหนึ่ง เหมือนกวาวเครือแดง มีรากคล้ายหัว มียางแดงคล้ายเลือด กินแล้วจะให้โทษ
ข้อสำคัญที่ตำราเน้นคือต้องรู้จักต้นยาให้ดี ถ้าไม่รู้จักเถา ต้น หัว ใบ ของยาแล้วไปเอาพืชอื่น ที่คล้ายกับกวาวมาทำเป็นยา นอกจากไม่ได้รับคุณประโยชน์แล้ว อาจเป็นโทษทำให้ตายได้
สรุปสรรพคุณของกวาวเครือตามตำรายาไทย
-เป็นยาอายุวัฒนะสำหรับผู้สูงอายุใช้ได้ทั้งหญิงและชาย (คนหนุ่มสาวห้ามรับประทาน)
ทำให้กระชุ่มกระชวย
-ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นกลับเต่งตึงมีน้ำมีนวล
-ช่วยเสริมอก กระตุ้นเต้านมขยายตัว โดยเฉพาะกวาวเครือขาว
-ช่วยให้เส้นผมที่หงอกกลับดำ และเพิ่มปริมาณเส้นผม
-แก้โรคตาฟาง ต้อกระจก
-ทำให้ความจำดี
-ทำให้มีพลัง การเคลื่อนไหวการเดินเหินจะคล่องแคล่ว
-ช่วยบำรุงโลหิต
-ช่วยให้รับประทานอาหารมีรสชาติอร่อย
ขนาดที่ใช้
ยาหัวกวาวเครือขาวให้ปั้นรับประทานวันละ 1 เม็ด เท่าเม็ดพริกไทย กวาวเครือแดงให้รับประทาน วันละ 2 ใน 3 ส่วนของเม็ดพริกไทย แต่ถ้าเป็นกวาวเครือดำให้รับประทานวันละ 1 ใน 3 ส่วน ของเม็ดพริกไทย
ในตำราเดียวกัน มีข้อความว่า
กวาวเครือขาว ควรรับประทานเท่าเมล็ดในมะขาม
กวาวเครือแดง ควรรับประทานเท่าเมล็ดในมะก่ำใหญ่
ส่วนกวาวเครือดำ ควรรับประทานเท่าเมล็ดมะกล่ำผ่า 4
ซีก รับประทานครั้งละ 1 ซีก
ปรากฏอยู่ด้วย อีกทั้งยังได้ระบุว่า ถ้ารับประทานติดต่อกัน 3-6 เดือน ฤทธิ์ของยาจะซึมซาบไปทั่วร่างกายแล้ว อาจเพิ่มขนาดขึ้นได้ โดยค่อยเพิ่มขนาดขึ้นทีละน้อย ซึ่งเป็นจุดอ่อนของยาไทยที่ไม่สามารถบอกขนาดที่แน่นอน อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้
ข้อห้ามใช้
แพทย์พื้นบ้านแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานกวาวเครือมากหรือต่อเนื่องกันนานเกินไป จะทำให้มีอาการเต้านมโตเกินไป เต้านมดานแข็งเป็นก้อน และทำให้เกิดเป็นลมสาน (เนื้องอกหรืออาจเป็นมะเร็ง) ที่เต้านมได้ และสำหรับผู้ชายหากรับประทานมาก จะมีเยื่อหุ้มที่อัณฑะหนาตัวขึ้น และอาจนำไปสู่การเป็นลมสาน (มะเร็ง) ที่อัณฑะได้
ในตำรายาแผนโบราณกล่าวไว้ว่า ห้ามคนวัยหนุ่มสาวรับประทาน ห้ามรับประทานของดองเปรี้ยว ดองเค็ม และควรอาบน้ำวันละ 3 ครั้ง และห้ามตากอากาศเย็นเกินไป
อาการข้างเคียง
เมื่อรับประทานกวาวเครือ 3-4 วัน จะปวดครั่นตามเนื้อตัว ที่เอวและข้อต่อทุกแห่ง เมื่อมีอาการปวดดังกล่าว ให้อาบน้ำเย็นก็จะมีอาการดีขึ้น ให้รับประทานยาต่อไปได้ไม่ต้องหยุดยา
ข้อควรระวัง
กวาวเครือทุกชนิดมีพิษทำให้เมาเบื่อในตัวเอง โดยเฉพาะชนิดแดงมีพิษมาก แต่ทุกชนิดสามารถนำมาทำยาได้หมด โดยจะต้องนำสมุนไพรอื่นร่วมในการทำยา เรียกว่าเป็น “ตัวคุม” แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีตัวคุม ก็ยังไม่ควรรับประทานมากเกินไป การรับประทานมากไปจะทำให้เกิดอาการท้องอืดอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้หมอพื้นบ้านจึงต้องให้รับประทานสมุนไพรที่มีส่วนช่วยในการรักษาท้องอืดร่วมด้วย เช่น ตรีกฏุก พริกไทย (สามารถลดพิษลงได้ประมาณ 70%) และใช้น้ำผึ้งเป็นกระสายยา เมื่อเอาหัวกวาวเครือมาแล้ว มีข้อแนะนำให้หั่นลงล้างในที่น้ำไหล (เช่นเดียวกับกลอย) เพื่อลดพิษที่ทำให้เบื่อเมา แต่อาจจะทำให้ยามีสรรพคุณลดลง จึงแนะนำให้ล้างเฉพาะหัวที่ยังไม่หั่น แล้วค่อยนำมาหั่นโดยไม่ต้องล้างอีก การล้างด้วนน้ำด่างจะเป็นการทำลายตัวยา
หมอพื้นบ้านบางท่านกล่าวว่า หากรับประทานกวาวขาวมากเกินไปจนกระทั่งหน้าอกใหญ่และทำให้เกิดอาการมะเร็งที่เต้านมแล้วก็มีวิธีที่ใช้แก้กันได้ โดยให้กินกวาวเลือดแทน กวาวเลือดจะมีฤทธิ์ที่หักล้างฤทธิ์ของกวาวขาวได้
องค์ประกอบทางเคมี
กวาวเครือขาว มีสารสำคัญกลุ่มต่างๆ คือ
สารกลุ่ม coumarins ได้แก่ coumestrol, mirificoumestan, mirificoumestan glycol และ mirificoumestan hydrate
สารกลุ่ม flavonoids โดยเฉพาะ isoflavonoids ได้แก่ genistein, daidzein, daidzin (daidzein 7-glucoside), puerarin, mirificin, kwakhurin และ kwakhurin hydrate
สารกลุ่ม chromene ได้แก่ miroestrol ซึ่งเป็นสารที่มีรายงานว่ามีฤทธิ์คล้าย
เอสโตรเจน พบเป็นปริมาณ 0.002-0.003% ของน้ำหนักหัวแห้ง
สารกลุ่ม steroids ได้แก่ b-sitosterol และ stigmasterol
อื่นๆ ได้แก่ alkane alcohols, ไขมัน และ น้ำตาล
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
งานวิจัยเกี่ยวกับกวาวเครือส่วนใหญ่เน้นไปที่การศึกษาผลคล้ายฮอร์โมน estrogen ของสมุนไพรหรือสิ่งสกัดจากสมุนไพรชนิดนี้ ซึ่งผลการทดลองเกือบทั้งหมดเป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง ยังมีการศึกษาในมนุษย์น้อยมาก งานวิจัยในช่วงแรกๆมุ่งไปที่การศึกษาฤทธิ์ของสาร miroestrol ซึ่งพบว่าในสัตว์ทดลอง สารนี้มีฤทธิ์ประมาณ 2 ใน 3 ของ stilbestrol เมื่อทดลองให้หนูถีบจักรที่ยังไม่โตเต็มที่กินสารนี้เข้าไป และมีฤทธิ์ราว 70% ของสาร 17b-estradiol เมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูขาว แต่เมื่อให้โดยวิธีเดียวกันนี้กับหนูถีบจักร พบว่ามีฤทธิ์เป็น 2.2 เท่าของสาร estrone ผลการทดลองในสตรีที่ประจำเดือนไม่มาตามปกติ 10 คน โดยให้สารนี้ในขนาด 1 และ 5 มก. วันละ 6 ครั้ง พบว่าสารนี้แสดงฤทธิ์เป็น estrogen อย่างรุนแรง โดยแสดงผล 2-3 สัปดาห์หลังจากเริ่มให้สารนี้ และในบางกรณีสามารถทำให้ประจำเดือนมาหลังจากหยุดให้สาร 7-18 วัน อาการข้างเคียงที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการทรวงอกขยายใหญ่ขึ้น และอาการจะเห็นได้ชัดเมื่อใช้ขนาดที่สูง
ภายหลังมีการพบสารกลุ่ม isoflavones หลายตัวได้แก่ genistein, daidzein รวมทั้ง
glycosides ของสารนี้ในหัวกวาวเครือขาว ซึ่งสารเหล่านี้จัดได้ว่าเป็น phytoestrogens
ซึ่งแสดงฤทธิ์ในลักษณะของฮอร์โมนเพศหญิงได้เช่นกัน
ผลการทดลองในสัตว์ทดลองอื่นๆ ได้แก่
ฤทธิ์ด้านการคุมกำเนิดสัตว์ทดลอง
เมื่อให้ผงกวาวเครือขาวผสมในอาหาร สามารถยับยั้งการออกไข่ การสร้างไข่ และ
การตกไข่ในนกกระทาและนกพิราปตัวเมียได้ จากการที่กวาวเครือขาวไปยับยั้งการ
เจริญของ follicle และยับยั้งการตกไข่ของนก ในนกเพศผู้ พบว่ามีการยับยั้งพฤติ
กรรมการเกี้ยวพาราศีและการผสมพันธุ์ของนกตัวผู้ และยับยั้งการเจริญของอัณฑะ
ของนก โดยอัณฑะของลูกนกที่เลี้ยงด้วยกวาวเครือขาวจะมีขนาดเล็กและมีน้ำหนัก
น้อยกว่ากลุ่มควบคุม ในนกพิราปพบว่ามีการยับยั้งการสร้างสเปิร์มด้วย
ในหนูถีบจักรเพศเมีย เมื่อให้ผงกวาวเครือขาวผสมในอาหารปริมาณ 30 มก.ต่อวัน
เป็นเวลา 30 วัน พบว่าสามารถคุมกำเนิดได้ โดยไม่พบการออกลูกเลย และเมื่อผ่า
หน้าท้องออกดู พบว่ามีการตั้งท้องโดยมีตัวอ่อนฝังอยู่ในมดลูกเพียง 1 ตัวเท่านั้น
ในหนูขาว พบว่าเมื่อให้ผงกวาวเครือขาวป่นแห้งขนาด 1 กรัมต่อสัปดาห์ มีประสิทธิ
ภาพในการคุมกำเนิดได้ดีที่สุด ถ้าให้ในขนาดที่ต่ำกว่านี้ จะคุมกำเนิดได้มากน้อย
ขึ้นอยู่กับปริมาณและวิธีในการให้ เมื่อให้ในขนาด 100 มก.ต่อวันแก่หนูขาวกินในช่วง
วันที่ 1-10 ของการตั้งครรภ์ สามารถคุมกำเนิดหนูหลังผสมพันธุ์ได้ 100%
ในสุนัขซึ่งเพิ่งผสมพันธุ์ไป เมื่อให้กินผงกวาวเครือขาวป่นในปริมาณ 1.5-4.5 กรัมต่อสัปดาห์ ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ สามารถคุมกำเนิดหลังผสมได้
ฤทธิ์ชักนำให้เกิดการแท้ง
เมื่อให้ผงกวาวเครือขาวป่นแห้งขนาด 100 มก.ต่อวัน หรือสารสกัดกวาวเครือขาว
ป้อนให้แก่หนูทดลองที่ตั้งท้องในระยะต้นๆกินติดต่อกัน 7 วัน สามารถชักนำการแท้ง
ในหนูทดลองได้ 100% วิตามินบีมีแนวโน้มในการต้านฤทธิ์ทำให้แท้งของกวาวเครือ
ขาวในหนูได้
ฤทธิ์ยับยั้งการให้นมในสัตว์ทดลองที่กำลังให้นมลูก
เมื่อป้อนหนูขาวที่กำลังให้นมด้วยผงกวาวเครือขาวป่นแห้งในขนาด 100 มก.ต่อวัน
ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ จะยับยั้งการให้นมในหนูขาวได้ โดยไปยับยั้งต่อมน้ำนมทำให้
ไม่เจริญและไม่สร้างน้ำนม
ผลต่อเต้านม และอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์ทดลองเพศเมีย
เมื่อป้อนผงกวาวเครือขาวป่นแห้งให้กับหนูขาวหรือหนูถีบจักรปกติ จะชักนำให้เต้านมของหนูใหญ่ขึ้น ต่อมน้ำนมเจริญขึ้น เช่นเดียวกับการให้ฮอร์โมน estrogen นอกจาก
นั้นยังมีผลให้ปากช่องคลอดขยายใหญ่ขึ้น รังไข่มีขนาดเล็กลง การเจริญของ follicle
ที่รังไข่และการตกไข่จะถูกยับยั้ง ในสุนัข ลูกแพะและลูกสุกร กวาวเครือขาวทำให้ปาก
ช่องคลอดขยายใหญ่ขึ้น บวมขึ้น
ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ ความรู้สึกทางเพศและการสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลองเพศผู้
ในหนูทดลองที่ได้รับกวาวเครือขาวขนาดครั้งละ 100 มก.ต่อกก. วันละ 3 ครั้ง เป็น
เวลา 14 วัน มีผลยับยั้งความรู้สึกทางเพศของหนู ทำให้หนูเพศผู้ไม่เข้าผสมกับเพศเมีย
ทั้งยังทำให้อัณฑะ, epididymis, ต่อมลูกหมากและ seminal vesicle ของหนูมีน้ำหนัก
ลดลง ยับยั้งการสร้างสเปิร์ม และมีการฝ่อสลายของ leydig cells ซึ่งสร้างฮอร์โมน
เพศผู้ด้วย แต่กวาวเครือขาวขนาดต่ำ (1 และ 10 มก.) ให้ด้วยวิธีเดียวกัน ไม่มีผล
ในสุนัข ในฤดูที่สุนัขเป็นสัด สุนัขตัวผู้ที่กินกวาวเครือขาววันละ 1.5 กรัม ติดต่อกัน
2-3 สัปดาห์ จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป คือ ไม่สนใจสุนัขตัวเมีย ความรู้สึกทาง
เพศหายไป แต่ตัวที่ยังพอมีความรู้สึกทางเพศเหลืออยู่และผสมกับเพศเมีย ก็พบว่าผสม
ไม่ติดหรือติดแต่ตัวเมียนั้นจะแท้งในเวลาต่อมา
ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
ในนกกระทาที่ได้รับกวาวเครือขาวก่อนและพร้อมกับการฉีดเม็ดเลือดแดงของแกะ
พบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันต่อเม็ดเลือดแดงของแกะต่ำลง แต่ในกลุ่มที่ฉีดเม็ดเลือดแดง
แกะก่อนแล้วจึงให้กวาวเครือขาวยังคงมีระดับภูมิคุ้มกันไม่ต่างจากกลุ่มควบคุม
นกกระทาญี่ปุ่นที่ได้รับผงกวาวเครือขาวป่นแห้งผสมในอาหารคิดเป็น 5 หรือ 10%
ติดต่อกันเป็นเวลา 15, 30 และ 76 วัน ตามลำดับ พบว่านกเหล่านี้จะมีฝีหนองขึ้น
ตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น หัว ใต้ปีก ฝ่าเท้า ข้อต่อเหนือหน้าแข้ง และมีการ
ตายมาก ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับกวาวเครือด้วย เข้าใจว่าการตาย
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
นอกจากนั้น กวาวเครือยังมีผลต่อการสร้างเม็ดเลือดทั้งเม็ดเลือดแดงและขาว ผลต่อระดับของแคลเซียม โปรตีนและคอเลสเตอรอลในเลือด รวมทั้งผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ทดลองด้วย